พ.ร.บ. กับ ป้ายวงกลม หรือป้ายภาษี เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

ประกันภัยรถยนต์ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Third Party Insurance)
  2. ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (Voluntary Motor Insurance)

ที่จะกล่าวถึงในวันนี้คือ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Third Party Insurance) หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ. ซึ่งกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำ มีขึ้นเพื่อความคุ้มครองต่อความสูญเสียของชีวิต ร่างกาย และผู้ประสบภัยจากรถยนต์เป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. รถเก๋งจะขายที่ราคา 645.21 บาท พ.ร.บ. รถกระบะจะขายที่ราคา 967.28 บาท

ลักษณะของ พ.ร.บ.

จะเป็นกระดาษ A4 และมีแถบสีเงิน (แถบโฮโลแกรม) มีข้อความ “สมาคมประกันวินาศภัย” และตราสัญลักษณ์ของสมาคม ระบุในแถบสีเงิน โดยปกติเมื่อซื้อประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจแล้ว เจ้าหน้าที่ขายจะเสนอในส่วนของประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับด้วย (พ.ร.บ.) และวันคุ้มครองจะเป็นวันที่เดียวกันเพื่อให้สะดวกต่อการจำได้ง่าย ซึ่งปัจจุบัน “พ.ร.บ. ไม่จำเป็นต้องติดหน้ากระจกรถยนต์นะครับ”

ตัวอย่างส่วนท้าย พ.ร.บ. ที่จะนำไปต่อภาษี

ป้ายวงกลมหรือป้ายสี่เหลี่ยม

คือ ป้ายที่แสดงว่ารถยนต์คันดังกล่าวได้มีการชำระภาษีรถยนต์ประจำปีแล้ว โดยต้องมีการแสดงให้เห็นชัดเจนด้วยการติดที่กระจกหน้ารถยนต์

ปัจจุบันกฎหมายบังคับว่ารถยนต์แต่ละคันจะต่อภาษีรถยนต์ประจำปีได้ ต้องใช้ พ.ร.บ. ยื่นประกอบการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีด้วย ดังนั้นหากรถยนต์คันดังกล่าวมีการติดป้ายวงกลมหน้ารถแสดงว่ารถคันดังกล่าวได้มีการซื้อ พ.ร.บ. ไว้แล้ว

เพราะฉะนั้นที่หน้ากระจกรถยนต์หนึ่งคันจะติดแค่ป้ายวงกลม หรือป้ายภาษีเท่านั้น  ที่สำคัญอย่าปล่อยให้ขาดต่ออายุไม่อย่างนั้นอาจโดนปรับได้นะครับผม 

ตัวอย่างป้ายภาษีรถยนต์

เอกสารที่ใช้ในการยื่นต่อภาษีรถยนต์ประจำปี

  1. สำเนาเล่มทะเบียน
  2. หน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
  3. ค่าธรรมเนียมรายปีดูจากประเภทการจดทะเบียน ปีรถ จำนวนซีซี และอายุรถ กรณีรถอายุเกิน 7 ปี ต้องให้แนบหลักฐานการตรวจสภาพรถประกอบการยื่นภาษีด้วยนะครับ

ปัจจุบันการชำระภาษีทำได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะใช้บริการของไฟแนนท์รถที่ท่านผ่อนรถอยู่ ซึ่งจะได้รับความสะดวกสบาย หรือบริการผ่านตัวแทน โหลดแอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ อีกช่องทางคือ เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมขนส่งจะมีลิงก์ให้กด “ชำระภาษีรถผ่านอินเตอร์เน็ต” และทำตามคำแนะนำการใช้งานระบบชำระภาษีรถได้เลย หรือหากต้องการคำปรึกษาเรื่องประกันภัยรถยนต์ การต่อภาษีรถยนต์ พ.ร.บ. สามารถติดต่อโปรประกันได้ที่ 02 343 1000

Comments are closed.